ก่อนจะไปเที่ยวอุทยาน คุณควรต้องทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทาง สถานที่พักแรม และกฎระเบียบเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ให้ดีก่อน ด้วยการติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของอุทยาน หรือถ้าต้องการไปค้างแรมก็ควรติดต่อกับกรมป่าไม้เพื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการจองบ้านพักในอุทยาน แต่หากคุณต้องการไปเป็นกลุ่มควรติดต่อไปที่สยามสมาคม มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ ชมรมดูนกของกรุงเทพฯ ซึ่งมักจะจัดกลุ่มทัศนาจรท่องเที่ยวอุทยานตลอดปี สมาคมเหล่านี้เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและคุณค่าทางวัฒนธรรม สมาชิกจะได้ข้อมูลที่มีคุณค่า หัวหน้ากลุ่มทัศนาจรก็มักจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องนี้ดี ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างชาติ การเดินทางไปเที่ยวอุทยานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากลำบากนัก เพราะอุทยานส่วนใหญ่มีพาหนะเข้าถึง ไม่ว่าอุทยานนั้นจะอยู่บนเขาสูง ในอ่าวลึก หรือในทะเลกว้าง ก็สามารถไปได้อย่างสะดวก ทีนี้เราลองมาดูข้อแนะนำต่างๆ กันเลยดีกว่าค่ะ
ค่าใช้จ่าย
การไปเที่ยวอุทยานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ค่าเข้าชม และค่าที่พักอยู่ในระดับพอควร (ค่าเข้าชมประมาณ 5 บาทต่อคน ยานพาหนะประมาณ 20 บาท) ค่าที่พักไม่แพง (คืนละ 500 บาท พักได้หลายคน) แต่ค่าที่พักอาจเพิ่มขึ้นได้จากนี้
การแต่งกาย
ในอุทยานมักจะหนาวเย็น โดยเฉพาะหน้าหนาวอย่างนี้ จึงควรเตรียมเสื้อกันหนาวหนาๆ กับถุงนอนไปด้วย และถ้าคุณขึ้นภูเขาสูงทางภาคเหนือตอนกลางวัน ควรสวมกางเกงขายาวและเสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันหนามเกี่ยวในป่า ควรเอาหมวก ถุงเท้าและแว่นตากันแดดไปด้วย
อุปกรณ์ในการเดินป่า
อุทยานบางแห่งก็มีเต้นท์และถุงนอนให้เช่า แต่ส่วนใหญ่แล้วเราต้องนำไปเอง อุปกรณ์อื่นๆ ก็มีเสื่อ กระเป๋าแบกขนาดเบา เครื่องปฐมพยาบาล ของใช้ส่วนตัว มีดเล็กๆ เข็มทิศ แผนที่และนกหวีด (เผื่อหลงทาง) กล้องส่องทางไกล ไฟฉายและถ่านหลายๆ ก้อน เทียน เชือก เครื่องมือช่างเล็กๆ น้อยๆ เตาเดินป่า ไม้ขีดไฟ หม้อ กะทะ ถ้วย ชาม ช้อน ส้อม ที่เปิดขวด ที่เปิดกระป๋อง และควรซื้ออาหารภายนอกอุทยานหากจะค้างคืน
เหตุด่วนเหตุร้าย
มีอุทยานเพียงไม่แห่งที่มีโทรศัพท์สาธารณะ แต่ทุกแห่งมีวิทยุสื่อสารในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุด่วน ถ้ามีเหตุฉุกเฉิน ติดต่อกับที่ทำการอุทยานแห่งชาติได้ ทุกแห่งมีระบบสื่อสารที่ติดต่อกับโลกภายนอกได้รวดเร็ว
กฏเกณฑ์และข้อบังคับของอุทยาน
ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับที่กรมป่าไม้เขียนประกาศไว้ในอุทยาน โดยเฉพาะการรักษาความสะอาดและการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่เราทำขึ้น อุทยานส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่ไปเที่ยวควรจะช่วยกันคนละไม้คนละมือ
ไฟ
ในช่วงฤดูแล้งคือระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคม ป่าจะแห้งและติดไฟง่ายควรระวังเป็นพิเศษในการจุดไม้ขีดไฟเพื่อหุงต้ม หรือสูบบุหรี่
อาวุธ
ผู้ที่เดินป่าห้ามพกปืน พนักงานพิทักษ์ป่าบางคนพกอาวุธได้
พืชและดอกไม้
ในการไปเที่ยวอุทยาน กฎที่เข้มงวดที่สุดคือ ห้ามถอนต้นไม้ เด็ดดอกไม้ หรือจับสัตว์ใดๆ ทั้งสิ้น หามจับปลาหรือเก็บปะการังจากท้องทะเล
ยานพาหนะ
ถ้าคุณต้องการขับรถส่วนตัวเข้าไปในอุทยาน คุณต้องขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ แต่อุทยานส่วนใหญ่มีพาหนะบริการ รถใหญ่ๆ ที่จอดทั่วไปในอุทยานเป็นศูนย์เสบียงของนักเดินป่าได้อย่างดี
อุทยานทะเล
มีกฎสองสามข้อที่ใช้บังคับในการทัศนาจรอุทยานทะเล เช่น ห้ามจับปลาโดยใช้ฉมวก คนที่แล่นเรือต้องระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ทอดสมอลงไปในแนวปะการัง การใช้ทุ่นจะดีที่สุด และควรพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้ท้องทะเลเกิดความเสียหาย
ทราบกันแล้วนะคะว่าก่อนไปเที่ยวอุทยาน ควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง ข้อแนะนำเหล่านี้เป็นกฎทั่วๆ ไปที่ต้องปฏิบัติตาม ส่วนกฎอื่นๆ ก็คงต้องศึกษาข้อมูลก่อนที่จะไปเที่ยวอุทยานที่คุณต้องการด้วยนะคะ |