การศึกษารอยตีนสัตว์ |
โอกาสที่เราจะเห็นสัตว์ใหญ่ ในป่าค่อนข้างจะมีน้อย เพราะต้นไม้ใบไม้เป็นที่กำบังอย่างดี อีกทั้งสัตว์หลายชนิด หากินในเวลากลางคืน และในพื้นที่ที่มีการลักลอบล่าสัตว์มาก พวกมันจะหลีกเลี่ยงคนอยู่แล้ว แต่ถ้าเรารู้จักดูรอยตีนสัตว์ เราก็จะสามารถศึกษาสัตว์ได้ โดยไม่ต้องเห็นตัว เส้นทางที่เราใช้เดินป่า ก็เป็นเส้นทางของสัตว์ด้วยเช่นกัน การแกะรอยตีนสัตว์เป็นวิชาของนักสืบ พราน และนักศึกษาธรรมชาติที่ชำนาญ ไม่เพียงแต่ สามารถแยกแยะชนิดของสัตว์จากรอยตีนได้ แต่บางครั้งยังสามารถจำแนกเพศ และอ่านพฤติกรรมของมัน จากลักษณะที่มันเดิน หรือหยุดยืน โดยผสมกับองค์ประกอบอื่นๆ รอยตีนสัตว์ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ รอยบนดินอ่อน เช่น โคลน บริเวณใกล้หนองน้ำ และทรายริมลำธาร หรือโป่งดินแฉะ เป็นที่ที่สัตว์มากินน้ำและแร่ธาตุ จะเห็นรายละเอียดสำคัญ อย่างรอยเล็บ หรือลักษณะของอุ้งตีนได้ง่าย ซึ่งไม่ปรากฎชัดเจนตามทางเดินที่เป็นฝุ่นดิน นอกจากรายละเอียดที่ต้องสังเกต ข้อควรระวัง อีกข้อหนึ่ง ในการจำแนกชนิดสัตว์จากรอยตีน คือ ขนาดของรอยตีนสัตว์ตัวผู้ชนิดหนึ่ง อาจมีรอยตีนขนาดใกล้เคียงกับของตัวเมีย หรือตัวที่ยังไม่โตเต็มวัยของสัตว์อีกชนิดหนึ่ง เช่น เสือดาวตัวผู้ และเสือโคร่งวัยรุ่น ในกรณีเช่นนี้ เราอาจจำแนก ชนิดสัตว์ไม่ได้เลย รอยตีนสัตว์ ที่พบในป่าส่วนมากจะไม่สมบูรณ์เหมือนที่เห็นอยู่ เมื่อพบรอยที่ไม่แน่ใจว่า เป็นของตัวอะไร ควรจะถ่ายรูป หรือวาดภาพ เท่าขนาดจริง โดยใช้แผ่นพลาสติกใสวางทาบรอย แล้วลอกลายด้วยสีเมจิก ชนิดลบไม่ออก (marker pen) แต่วิธีเก็บบันทึกรอยตีนสัตว์ที่ดีที่สุด คือ หล่อรอยด้วยปูนพลาสเตอร์ เพราะจะสามารถเก็บรายละเอียดไว้ได้สมบูรณ์ กว่าภาพถ่ายมาก แล้วนำกลับมาให้ผู้เชี่ยวชาญดู หรือไปขออนุญาต เทียบกับอุ้งตีนสัตว์สตัฟฟ์ ที่สถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แห่งประเทศไทย ถนนพหลโยธิน บางเขน ถ้าจำแนกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตามลักษณะตีน ก็แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม สัตว์มีเล็บ (Unguiculata) สัตว์กีบ (Ungulata) ° สัตว์กีบคี่ อาจมีเพียงเท้าละกีบ เช่น วงศ์ม้าและลา หรือมีเท้าละ 3-4 กีบ เช่น วงศ์สมเสร็จ และวงศ์แรด สัตว์ชนิดนี้ไม่มีเขา รอยเท้าสัตว์ป่ามีหลายลักษณะด้วยกัน บางชนิดก็เหมือนกัน บางชนิดก็ต่างกัน และบางชนิดก็มีขนาดเท่ากัน ทำให้ยากแก่การตัดสินใจว่ารอยเท้านั้นเป็นของสัตว์ชนิดใด สิ่งที่ช่วยให้เราวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องก็คือ “การสังเกต การศึกษา และการจดจำ” เพื่อที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวของสัตว์ป่าต่างๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ แหล่งอาศัย ขนาด ด่านสัตว์ อาหารที่กิน และอากัปกิริยาต่างๆ ที่สำคัญทำให้การเดินป่ามีรสชาติ สนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ และได้รับความรู้ ในที่นี้เราจะกล่าวเพียงหลักเบื้องต้นของการสังเกต ลักษณะรอยเท้าของสัตว์ป่า เฉพาะร่องรอยของสัตว์ป่าที่เราได้จดบันทึกไว้ หรือรวบรวมหามาได้เท่านั้น หมาไน (Asian Wild Dog) อาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา ออกหากินตอนเช้า และใกล้ค่ำ โดยล่าสัตว์กินพืชเป็นอาหาร รอยเท้าหมาไนมีลักษณะคล้ายกับสุนัขที่เลี้ยงตามบ้าน เรามักพบเห็นร่องรอยของมันย่ำเปรอะอยู่เต็มไปหมด เพราะอยู่กันเป็นฝูง ส่วนหมาจิ้งจอก ก็มีรอยเท้าคล้ายกับหมาไน แต่มีขนาดเล็กกว่า และมักพบรอยเท้าเพียงตัวเดียวหรืออยู่เป็นคู่เท่านั้น หมีควายหรือหมีดำ (Asiatic Black Bear) บางทีเรียกว่า “หมีคอหวี” เพราะมีขนสีขาวบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัววี (V) อาศัยอยู่ตามถ้ำในป่าเบญพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อเป็นอาหาร โดยเฉพาะน้ำผึ้ง ปีนต้นไม้ได้ รอยเท้ามีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ แต่มีขนาดสั้นกว่า ป้อมกว่า และมีรอยเล็บ หมีหมาหรือหมีคน (Malayan Sun Bear) แตกต่างจากหมีควายตรงที่ มีขนาดเล็กกว่า ขนสั้น หูสั้น และมีขนสีขาวบริเวณหน้าอกเป็นรูปตัวยู (U) ทำให้บางครั้งเรียกกันว่า “หมีคอยู” อาศัยอยู่ในป่าลักษณะเดียวกับหมีควาย ปกติออกหากินตอนกลางคืน แต่อาจพบเห็นในเวลากลางวันได้ เป็นสัตว์ที่กินทั้งพืช และเนื้อ แมลง และสัตว์เล็กๆ เป็นอาหารโดยเฉพาะน้ำผึ้ง ทำรังนอนบนต้นไม้ มีประสาทตาที่ไม่ค่อยดีเมื่อเปรียบเทียบกับ ประสาทสัมผัสทางจมูก รอยเท้าของหมีหมามีลักษณะเช่นเดียวกับหมีควาย แต่มีขนาดเล็กกว่า บริเวณที่พบร่องรอยก็เช่นเดียวกับหมีควาย หมาไม้ (Yellow-Throated Marten) มักพบอยู่บนต้นไม้มากว่าพื้นดิน อาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา เป็นสัตว์ที่มีนิสัยอยากรู้อยากเห็น เมื่อพบสิ่งแปลกปลอมก็จะยกขาหน้าทั้งสองเพื่อยืนขึ้น ทำให้มองเห็นได้ไกลกว่าเดิม ปกติจะออกหากินในเวลากลางวัน โดยอยู่กันเป็นคู่ๆ มักล่ากระรอก นก สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิด และงู เป็นอาหาร รวมทั้งยังกินผลไม้สุก และน้ำผึ้งอีกด้วย ชะมดแผงหางปล้อง (Large Indian Civet) อาศัยอยู่ตามป่าไม้ทั่วไป แม้ว่าจะเป็นทุ่งหญ้า หรือบริเวณป่าโล่งที่เคยถูกทำลายมาก่อน ออกหากินตอนกลางคืนและไม่เลือกที่ อาหารได้แก่ ปลา นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แมลง หอย กุ้ง และปู เป็นต้น รอยเท้ามีลักษณะคล้ายเสือ แต่แตกต่างกันตรงที่อุ้งเท้า และนิ้วเท้าจะมีขนาดยาวรี และแยกห่างกันมากกว่า หมีขอหรือบินตุรง (Binturong) อยู่ในวงศ์เดียวกับชะมด อาศัยอยู่บนต้นไม้ ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา นานๆครั้งจึงจะลงพื้น ออกหากินตอนกลางคืน อาหารได้แก่ ผลไม้สุก ลูกไทร หนูตัวเล็กๆ แมลง นก ระหว่างกลางเคลื่อนที่บนต้นไม้ จะส่งเสียงคำรามเบาๆ พังพอนธรรมดา (Javan Mongoose) อาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนมากชอบกินหนูขนาดเล็กเป็นอาหาร พญากระรอกดำ (Black Giant Squirrel) อาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ทำรังโดยคาบกิ่งไม้ ใบไม้มาสานกันบนยอดไม้สูง ชอบหากินอยู่ตามยอดไม้ โดยกระโดดจากต้นไม้หนึ่งไปยังอีกต้นไม้หนึ่ง กินลูกไม้ ยอดใบไม้เป็นอาหาร นานๆจะพบลงพื้นสักครั้งหนึ่ง เมื่อตกใจจะร้องดัง “แซ้กๆ” เม่นใหญ่แผงคอยาว (Malayan Porcupine) อาศัยอยู่ตามป่าทั่วๆไป โดยการขุดรูเป็นโพรงอยู่ใต้ดิน กินรากไม้ เปลือกไม้ และลูกไม้ที่ตกหล่นตามพื้นดิน บริเวณรอยเท้าของเม่นมักพบรอยขนเม่นที่ลากดิน หรือขีดเป็นทางอยู่ด้วย บางครั้งก็จะพบขนเม่นที่หลุดทิ้งไว้ตามทางเดิน กระต่ายป่า (Siamese Hare) อาศัยอยู่ตามป่าทั่วๆไป ส่วนใหญ่ออกหากิน ตอนกลางคืน พบอยู่ทั่วไปตามทุ่งหญ้าบนเขา เสือ(Tiger) พบเห็นรอยเท้าเสือเฉพาะอุ้งเท้า และนิ้วเท้าเท่านั้น ส่วนเล็บจะซ่อนอยู่ รอยเท้ามีลักษณะคล้ายแมว แต่มีขนาดใหญ่กว่า ซุ่งขนาดรอยเท้าจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับ ขนาดของลำตัวของเสือและชนิดของเสือ ช้างเอเชีย (Asian Elephant) อาศัยอยู่ตามป่าทั่วๆไป มักอยู่รวมกันเป็นฝูง ยกเว้นช้างพลาย หรือช้างตัวผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มมักออกหากินเพียงตัวเดียว จึงเรียกว่า “ช้างโทน” แต่จะกลับเข้าฝูงในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีงา แต่ตัวเมียมีงาขนาดเล็ก ส่วนตัวผู้มีงาขนาดใหญ่และยาว รอยเท้าช้างมีลักษณะค่อนข้างกลมใหญ่ มีรอยเล็บโค้ง 3-4 รอย รอยเท้าหน้ามีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าหลัง บางครั้งเราอาจจะพบรอยเท้าลุกช้าง ซึ่งมีขนาดเล็กคล้ายรอยของสมเสร็จ เดินวนเวียนอยู่รอบๆตัวแม่ หมูป่า (Common Wild Pig) อาศัยอยู่กันเป็นฝูงตามป่าทั่วไป โดยเฉพาะที่ที่มีทั้งอาหารและน้ำ เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้ดี ชอบนอนพักผ่อนอยู่ในปลักที่เป็นโคลน ทำให้พบรอยโคลนอยู่ตามใบไม้ของไม้พุ่มขนาดเล็ก หรือรอยเสียดสีกับโคนต้นไม้ ในช่วงฤดูร้อนจะหลบเข้าไปอยู่ในป่าลึก รอยเท้าหมูป่าเป็นกีบเช่นเดียวกับสัตว์จำพวกกวาง แต่แตกต่างกันที่รอยเท้าหมูป่าจะเห็นกิ่งกีบชัดเจน ซึ่งมีอยู่ที่เท้าข้างละ 2 กิ่ง อันที่จริงสัตว์ชนิดอื่นก็มีกิ่งกีบเหมือนกัน แต่อยู่สูงจากพื้นดินมาก และจะปรากฏกิ่งกีบ เฉพาะเมื่อเหยียบลงบนดินที่อ่อนนุ่มมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ซึ่งรอยกิ่งกีบของสัตว์จำพวกกวางจะอยู่ทางด้านหลังตรงส้นเท้า มองเห็นเป็นรอยเล็กๆ 2 รอย หากลองลากเส้นล้อมรอบรอยเท้ากวางรวมทั้งกิ่งกีบก็จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่รอยกิ่งกีบของหมูป่าจะอยู่ด้านหลังทางด้านข้างของส้นเท้า และเมื่อลองลากเส้นก็จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู รอยเท้าหมูป่ามีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ มีเส้นผ่ากลาง ปลายกีบเรียวและห่างกันมาก กระจงเล็กหรือกระจงหนู (Lesser Mouse Deer) เป็นสัตว์กีบที่มี ขนาดเล็กที่สุดในเอเชีย สูงเพียง 20-25 ซม. ทั้งตัวผู้และตัวเมียไม่มีเขา อาศัยอยู่ตามป่าทั่วๆไป ส่วนใหญ่ออกหากินตอนกลางคืน อาหารได้แก่ ผลไม้ ใบไม้ และยอดอ่อนของใบไม้ เมื่อตกใจจะใช้เท้าหน้าเคาะรัวถี่ที่พื้นดินคล้ายๆกับตีกลองก่อนกระโจนหนี เก้งหรือฟาน (Common Barking Deer) อาศัยอยู่ตามป่าทั่วๆไป ตัวผู้มีเขาต่อจากกระดูกที่ยื่นออกไปจากหัว ผลัดเขาทุกปี ส่วนตัวเมียไม่มีเขา ชอบอยู่เดี่ยว คู่ หรือเพียง 2-3 ตัว..พ่อ แม่ ลูกเท่านั้น ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน รอยเท้าแต่ละข้าง มีลักษณะเหมือนกันตรงที่ มีรอยผ่ากลางแบ่งออกเป็น 2 กีบ ความยาวของกีบนอกและกีบในเท่ากัน ปลายกีบเรียวแหลม ส้นกีบกลมมน แต่แตกต่างกันที่รอยเท้าหน้ามีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าหลัง และปลายกีบทั้งสอง ของรอยเท้าหน้าจะแยกห่างจากกันมาก กวางป่า (Sambar Deer) อาศัยอยู่ตามป่าทั่วๆไป ส่วนใหญ่ออกหากินตอนกลางคืน ในฤดูร้อนชอบนอนในลำห้วยที่มีน้ำตื้น และชอบนอนแช่ปลักโคลนอยู่เสมอๆ เพื่อป้องกันการถูกรบกวนจากแมลง เราจึงมักพบรอยโคลนหรือขนติดอยู่ตามต้นไม้ที่มันขึ้นมาถู หรือตามด่าน รอยเท้าหน้ามีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าหลัง แต่มีลักษณะคล้ายกัน คือ มีร่องผ่ากลาง แบ่งออกเป็น 2 กีบ แต่ละกีบค่อนข้างกลมรี โดยปลายกีบจะรีแหลม แล้วบานกว้างออกลงมา ทางส่วนส้นเท้า นอกจากนี้กีบซีกในจะมีขนาดสั้นกว่ากีบนอกเล็กน้อย ทำให้เรารู้ว่ารอยเท้าที่พบ เป็นรอยเท้าซ้ายหรือขวา รอยเท้ากวางป่ากับหมูป่ามีส่วนคล้ายกันมากคือ ความกว้าง แต่แตกต่างตรงที่รอยเท้ากวางยาวกว่าเกือบ2 ซม. และปลายกีบทั้ง 2 ของเท้าแต่ละข้าง จะอยู่ชิดกันมากกว่าของหมูป่า สมเสร็จ (Malayan Tapir) เป็นสัตว์ที่สืบเชื้อสายมาจากสัตว์โบราณราว 50 ล้านปีมาแล้ว ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย รอยเท้าหน้าและหลังมีจำนวนกีบไม่เท่ากัน โดยรอยเท้าหน้ามี 4 กีบ ส่วนรอยเท้าหลังมี 3 กีบ ซึ่งกีบกลางเป็นกีบที่มีความยาวใหญ่ และแข็งแรงที่สุด เลียงผา (Serow) อาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้งบนยอดเขาหินปูน เป็นสัตว์ที่อดน้ำได้เก่ง โดยอาศัยน้ำจากพืชที่กินเป็นอาหาร แต่กลางคืนก็พยายามลงหาน้ำดื่มตามลำห้วย รอยเท้ามีลักษณะเหมือนผีเสื้อ โดยมีกีบแต่ละข้างเป็นเหมือนปีกผีเสื้อ ปลายกีบทั้งสอง แยกออกจากกัน ไม่งองุ้มเข้าหากัน ทั้งรอยเท้าหน้าและรอยเท้าหลัง ปลายกีบกลมมนไม่แหลม แต่ส่วนส้นกีบจะกลมมนมากกว่า รอยเท้าหน้ามีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าหลัง วัวแดง (Banteng or Tsaine) มีความสูงเกือบ 2 เมตร หรือกว่านั้น ชอบอาศัยอยู่เป็นฝูงๆละ 10-20 กว่าตัว อาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ หรือป่าฝนที่มีหน่อไม้ และพรรณไม้ป่าที่มันชอบกินมากชนิด พอเข้าฤดูฝนก็จะย้ายถิ่นที่หากินไปตามป่าดิบแล้ง และป่าโปร่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีทุ่งหญ้าระบัด พอถึงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาวก็จะกลับคืนสู่ป่าดิบ ออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน รอยเท้ามีขนาดใหญ่ ปลายเท้ากลมมนไม่แหลม มีร่องกีบแคบ รอยเท้ามีความยาวมากกว่าความกว้าง รอยเท้าหน้าใหญ่กว่ารอยเท้าหลัง ปลายเท้าของรอยเท้าหลัง จะแหลมกว่าปลายเท้าของรอยเท้าหน้า บางครั้งเห็นเป็นรูปหัวใจคว่ำ กระทิงหรือเมย (Gaur) อาศัยอยู่ตามป่าดิบแล้ง หรือป่าดิบเขา ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ตั้งแต่ 4-20 ตัว มักออกหากินตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ รอยเท้าคล้ายวัวแดงมาก แต่ขนาดเฉลี่ยของรอยเท้ากระทิงจะใหญ่กว่าของวัวแดง นอกจากนี้มีลักษณะค่อนข้างกลมมากกว่า คือมีความยาวและความกว้างใกล้เคียงกัน แต่ร่องกีบกว้างกว่า และปลายกีบทั้งสองอยู่ห่างกัน มากกว่า ปลายกีบของกระทิงนั้นจะมีส่วนโค้งของกีบนอนตีโค้งกว้างกว่าวัวแดง ส่วนวัวแดงจะเรียวกว่า รอยเท้าหน้ามีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าหลัง ควายป่าหรือมหิงสา (Wild Water Buffalo) มีลักษณะเหมือนควายบ้าน แต่รูปร่างใหญ่และปราดเปรียวว่องไวกว่า ไม่เชื่องช้าเหมือนควายบ้าน อาศัยอยู่เป็นฝูงใหญ่ๆ ตามป่า และทุ่งหญ้าที่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ เมื่อกินอิ่มแล้วมักจะนอนแช่ปลักโคลน หรือนอนแช่น้ำ ในลำห้วย รอยเท้าหน้ามีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าหลัง รอยเท้าควายป่าจะมีขนาดใหญ่กว่า และดูโค้งกลมแปลกไปจากกระทิงและวัวแดงอย่างเห็นได้ชัด รอยเท้าเหมือนกับควายบ้าน แต่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นลักษณะกลม ความกว้างและความยาวของรอยเท้าจะใกล้เคียงกันมากกว่า รอยกระทิง ร่องกีบกว้างกว่ารอยกระทิง ปลายและส้นกีบนอกของควายป่าจะตีโค้งกว้างมาก มูลมีลักษณะเดียวกับวัวแดงและกระทิง แต่เป็นกองแผ่ราบไม่แยกเป็นก้อน สัตว์ป่าทุกชนิดย่อมมีอุปนิสัยและพฤติกรรมแตกต่างกันไป ตามชนิดพันธุ์ ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีเส้นทางประจำที่ใช้เดินไปยังแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และโป่งเป็นประจำ เกือบทุกวัน เส้นทางดังกล่าวเรียกว่า “ด่านสัตว์” (Animal path) เช่น ด่านช้าง ด่านเก้ง ด่านกวาง เป็นต้น เพราะด่านช้างเป็นด่านที่มีขนาดใหญ่ สังเกตเห็นได้ง่ายเพราะนอกจากจะมีรอยเท้า ปรากฏอยู่ตามพื้นดินแล้ว เรายังพบต้นไม้ใหญ่น้อยและป่าใหญ่สองข้างทาง ถูกเหยียบราบลู่ ไปเป็นทางเด่นชัด ส่วนขนาดของด่านช้างจะกว้างมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับโขลงช้างว่ามี ประชากรมากน้อยเท่าไร ด่านช้างยังเป็นเส้นทางเดินหลักของสัตว์ป่าประเภทอื่นด้วย เช่น กระทิง วัวแดง เก้ง กวาง เสือ เป็นต้น โดยปกติด่านสัตว์จะตัดไปตามพื้นราบ หลบเลี่ยงทางสูงชัน หากจำเป็นต้องขึ้นสู่สันเขา ก็จะซิกแซกลัดเลาะขึ้นไปทีละนิดๆจนถึงสันเขา ระหว่างเดินบนสันเขาที่ยาวเหยียดก็อาจจะ ตัดทางแยกลงสันเขาตามทางที่ไม่ชัน เพื่อแวะหาแหล่งน้ำแหล่งอาหารรองท้อง ก่อนเดินต่อไป จนไปสิ้นสุดที่เชิงตีนเขา หรืออาจลงแวะระหว่างทางก่อนก็ได้ แต่จะไม่ตัดด่านลงทาง ที่เป็นสันเขาขาด ซึ่งมีความชันสูงอย่างเด็ดขาด สัตว์ป่าบางชนิดจะไม่เดินขึ้นสันเขา แต่จะเดินเลียบเลาะไปตามลำห้วย บริเวณตามป่าที่ราบ มักจะมีด่านสัตว์ตัดไปตัดมาคล้ายร่างแหอยู่มากมาย ซึ่งแต่ละด่าน ก็มุ่งไปยังแหล่งน้ำแหล่งอาหารตามจุดต่างๆ ยิ่งบริเวณที่ใกล้กับโป่งก็จะมีด่านสัตว์มากขึ้นอีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น เสือ หมาใน เป็นต้น ซึ่งอาจดักรอทำร้ายอยู่ได้ เส้นทางด่านสัตว์ที่มากมายเช่นนี้ มักจะไปรวมอยู่กันกับด่านหลัก แต่จะรวมกันตรงไหนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศที่เรียบง่ายจะพาไปเชื่อมต่อกัน หากตามด่านสัตว์มีสิ่งใดล้มขวาง เช่นต้นไม้ใหญ่ เป็นต้น สัตว์ก็จะเดินอ้อมในระยะทาง ที่สั้นที่สุด แล้ววกกลับเส้นทางด่านสัตว์ตามเดิมอีกครั้ง ด่านสัตว์นอกจากจะเป็นทางพาไปสู่แหล่งน้ำแหล่งอาหารแล้ว ยังเป็นเส้นทางหลบหนี ศัตรูอีกด้วย ด่านของสัตว์ป่าประเภทใดที่ใช้เป็นประจำ มักจะมีสัญลักษณ์ของสัตว์ชนิดนั้น ทำเอาไว้ เช่น มูลสัตว์ ปัสสาสะ เป็นต้น เพราะบางที่สัตว์ป่าเดินในเวลากลางคืน ซึ่งไม่สะดวก แก่การมองเห็นก็ต้องใช้กลิ่น และการสัมผัสกับสัญลักษณ์ที่ทำทิ้งไว้ เพื่อจะได้เดินถูกต้อง หลายท่านอาจมีความสงสัยว่า ทำไมสัตว์ไม่อาศัยหากินเป็นที่เป็นทาง ทำไมต้องเดินไป หากินไกลๆให้เหนื่อย ขอชี้แจงให้หายข้องใจว่า หากสัตว์ชนิดนั้นหากินอยู่เพียงบริเวณเดียว ไม่เคลื่อนย้ายไปไหน ไม่นานป่าก็ราบ อาหารก็หมด แถมยังอาจจะถูกทำร้ายจากสัตว์ล่าเนื้อได้ง่าย อีกด้วย สัตว์ป่าจึงต้องโยกย้ายไปมาอยู่เสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล บางท่านอาจจะสงสัยว่า “ทำไมต้องไปกินโป่ง” มันอร่อยหรือ? ก็เหมือนกับคนละครับ ที่พยายามหาอาหารกินให้ครบหมู่ธาตุที่ร่างกายต้องการ สัตว์ก็เช่นกัน เมื่อได้ธาตุอาหารจากพืช ไม่ครบ จึงจำเป็นต้องหาอาหารเสริม นั่นคือ “แร่ธาตุ” ซึ่งมีกระจายอยู่เป็นจุดๆ ไม่ได้มีทั่วทุกแห่ง แร่ธาตุอันเกิดจากการตกตะกอนของดินที่ถูกสายน้ำกัดเซาะพังทลาย ซึ่งอยู่ตามริมห้วย บริเวณหุบเขาเรียกว่า “โป่งดิน” บางครั้งแร่ธาตุเสริมนี้มาพร้อมกับน้ำใต้ดินหรือน้ำซับ ซึ่งพบได้ทั่วไปแม้แต่บนยอดเขา ใกล้ลำห้วยใหญ่หรือหุบเขา น้ำซับมีทั้งชนิดร้อนและเย็น ซึ่งมีกลิ่นและรสต่างกันไป น้ำซับชนิดร้อนมีกลิ่นกำมะถัน ส่วนน้ำซับชนิดเย็นมีรสชาติหวาน แต่ไม่มีกลิ่น เราเรียกว่า “โป่งน้ำซับ” นอกจากนี้เราอาจพบแร่ธาตุประเภทนี้ในหินที่ผุพัง ซึ่งสัตว์จะได้กลิ่นและเข้าไปขุดคุ้ยดินให้ลึกลงไปราว 1-2 ฟุต ก่อนกินเป็นอาหารเสริม เรียกว่า “โป่งหิน” นักนิยมไพรส่วนใหญ่จะรู้จักด่านสัตว์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะด่านช้าง เพราะจะใช้ด่านช้าง เป็นเส้นทางเดินชมไพรอยู่เสมอๆ เนื่องจากมีขนาดกว้างใหญ่ ไม่รก สะดวก และง่ายต่อการเดิน ไปยังจุดต่างๆ รวมทั้งมีร่องรอยสัตว์หลายชนิดที่อาศัยด่านช้างเป็นทางร่วม จึงเหมาะแก่การเดิน เรียนรู้รอยเท้าสัตว์ และเครื่องหมายที่สัตว์ป่าทำทิ้งไว้ แต่ควรระมัดระวังการจ๊ะเอ๋โดยไม่ตั้งใจ กับเจ้าของด่าน หากเราพบเห็นก่อนก็ให้แอบซุ่มดูอยู่ไกลๆ อย่าได้เข้าไปใกล้เป็นอันขาด แต่ถ้าท่านเจ้าของด่านพบเห็นท่านก่อน เขาจะวิ่งชาร์จใส่เราทันที ควรตั้งสติให้มั่น แล้วรีบวิ่งออกนอกทางด่านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ อย่าวิ่งหนีไปตามด่านอย่างเด็ดขาด เพราะโดยปกติช้างจะไม่ออกนอกทางด่านของตัวเอง การที่เราสังเกต ศึกษา และจดจำลักษณะร่องรอยของสัตว์แต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำ นอกจากจะทำให้การเดินป่ามีรสชาติสนุกสนาน และตื่นเต้นเร้าใจแล้ว เรายังได้เรียนรู้เรื่องราว ของสัตว์ป่าต่างๆเพิ่มมากขึ้น อาทิ สภาพป่าที่อาศัย อาหารที่กิน ขนาดของสัตว์ ด่านสัตว์ และอากัปกิริยาต่างๆ ที่สำคัญเรารู้ว่าร่องรอยที่พบเป็นรอยเก่าหรือใหม่ เพื่อช่วยบอกถึง ความใกล้ไกลของสัตว์เหล่านั้นกับเรา และหากเป็นสัตว์ที่อันตรายต่อชีวิตของเรา ก็จะได้หลบหนีได้ทันท่วงที แต่หากเป็นสัตว์ที่ไม่ดุร้าย และเพิ่งไปไม่นาน ก็อาจจะแกะรอย ตามไปซุ่มดูพฤติกรรมอันน่ารักของมันก็ได้ ข้อสังเกตุ รอยเท้าที่พิมลึกลงไปบนพื้น สภาพดินอ่อน และสภาพดินแข็ง คือเงื่อนไขสำคัญ ในการพิจารณาถึงอากัปกิริยา ขนาด และความยากง่ายในการจำแนกชนิดของรอยเท้าสัตว์นั้นๆ |